HFT คืออะไร?

TongTanapat
4 min readJul 22, 2023

--

High Frequancy Trading: กลยุทธ์เหนือจินตนาการของนักลงทุน

High Frequency Trading หรือตัวย่อ HFT คืออะไร? ถ้าให้ผมตอบแบบง่ายที่สุด มันคือวิธีการส่งคำสั่งที่เร็วกว่าการส่งคำสั่งแบบปกติ แต่…เร็วแค่ไหนล่ะ โดยส่วนมาก มักจะมีคำจำกัดความอยู่ประมาณต่ำกว่า 10–20 Milliseconds ลงไป หรือหากยึดตัวเลข 20 millisecs ก็จะเท่ากับ 0.02 วินาที ซึ่งไม่ถึงวินาทีด้วยซ้ำ

คำถามคือ ทำเร็ว ๆ ไปทำไม?

ต้องย้อนไปถึงว่าอะไรทำให้ HFT เกิดกันก่อน จริง ๆ แล้ว HFT ใช้ได้กับหลายกลยุทธ์ อยู่ที่ว่าคุณจะใช้ตอนไหน นั่นคือคำถามที่แท้จริงของการนำ HFT ไปใช้ คำถามที่ว่า “จะเอาไปใช้ตอนไหน?” ไปไล่ดูทีละตัวอย่างกัน โดยในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างเป็นหุ้นไทยให้ได้เห็นภาพกันก่อน

ตัวอย่างแรก: กองทุนที่ลงทุนในหุ้นต้องการซื้อหุ้น XYZ จำนวน 100 ล้านหุ้น อันเนื่องมาจากทีมวิเคราะห์ได้วิเคราะห์มาอย่างละเอียดแล้วว่าหุ้นตัวนี้อยู่ใน Radar การลงทุน

สิ่งที่กองทุนนี้ต้องทำ คือการหาว่า วอลลุ่มที่เทรดหุ้น XYZ มีในปริมาณซื้อขายอยู่ในตลาดแต่ละวันเท่าไหร่ โดยสมมติว่าภาพต่อไปนี้คือ bid/offer ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน

https://pantip.com/topic/33855406

โดยเราจะเห็นว่าถ้ากองทุนได้รับโจทย์มาว่า ต้องซื้อ 100 ล้านหุ้น ภายใน 3 วัน

หากเป็นสมัยก่อน กองทุนก็จะมีตำแหน่งที่เรียกว่า Market maker ที่เป็นมนุษย์อย่างเรา ๆ นั่งคลิกซื้อกันตลอดเวลาที่ตลาดหุ้นเปิด โดยหลักการดั้งเดิมคือ “ซื้อ! ให้ได้ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของตลาด” (VWAP) เพราะการที่เราต้นทุนต่ำกว่าราคาตลาด ณ สิ้นวัน นั่นหมายถึง Margin of satefy ที่เราจะได้กลับมาด้วย เช่น นักวิเคราะห์บอกมาว่าราคาจะไป 8 บาท แต่หากกองทุนนั้นไล่ซื้อเคาะขวาออกไปจนปิดสิ้นวันได้ราคาเฉลี่ยที่ 4.30 เมื่อคิดกำไรจากเป้าหมายที่ 8 บาทแล้ว เทียบกับอีกกองทุนหนึ่งที่พยายามทยอยเก็บราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราคาตลาด อาจได้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.24 นั่นหมายถึงว่าปริมาณ 100 ล้านหุ้น กับผลงาน 2 กองทุนที่ต้นทุนต่างกันถึง 0.06 สตางค์ย่อมส่งผลไปที่ตัวเลขกำไรต่างกันแน่นอน และการที่ต้องไล่ซื้อเคาะราคาด้านขวาไปทันที ย่อมส่งผลออกไปกราฟราคาทำให้นักลงทุนสายอินดิเคเตอร์ที่รอกราฟเบรคเอาท์หรือคนที่รอเทรดด้วยการดูวอลลุ่มย่อมเห็นความผิดปกติจนทำให้เราไม่สามารถได้ราคาเฉลี่ยที่ต่ำลงแน่นอน

เอาล่ะ ทีนี้ถ้ากองทุนนี้ไม่ใช้คนมาคีย์ซื้อขายหุ้นแล้วล่ะ ทำยังไงได้บ้าง?

จากภาพเดิมอีกที

https://pantip.com/topic/33855406

ถ้ากองทุนดังกล่าว มีโปรแกรมเมอร์มือฉมังอยู่ในทีม มีนักคณิตศาสตร์ มีนักสถิติอยู่ในทีม เค้าจะลงมืออย่างไรได้บ้าง?

จากตัวอย่างต่อไปนี้ หลายคนอาจบอกว่าไม่จำเป็นต้องนักคณิตศาสตร์หรือนักสถิติก็ทำได้ แต่ผมต้องบอกว่าย้อนไปในสมัย Electronic trading system รุ่งเรือง มันมาจากแนวคิดของกลุ่มคนเหล่านั้นทั้งหมด ผมจะเล่าให้ฟังตามต่อไปนี้

เมื่อผมเห็น Bid/Offer ดังภาพ ผมมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเก็บหุ้นตัวนี้ โดยโจทย์คือต้องได้ราคาต่ำ วอลลุ่มไม่ออกจนสังเกตเห็นได้ และไม่สร้าง Impact ไปยังกราฟราคา ผมจะนำตัวเลข 100,000,000 ไปหารเวลาที่ผมมีอยู่ตามโจทย์นั่นคือ 3 วัน

100,000,000/3 = 33,333,333.33 นี่จะเป็นตัวเลขปริมาณหุ้นที่ผมต้องเก็บได้ต่อวัน ไปต่อกันที่แต่ละวันตลาดเปิดให้เทรดกี่ชั่วโมง?

สมมติว่าตลาดเปิดให้เทรดเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ 5 ชั่วโมง

ผมจะเอาตัวเลขหุ้นต่อวันที่ผมคำนวณไปหารเวลา จะได้ดังนี้

33,333,333/5 = 6,666,666 หุ้นต่อชั่วโมง

เอาล่ะ ผมรู้แล้วว่าผมต้องเก็บ 6,666,666 หุ้นต่อชั่วโมง แต่จากภาพ Bid/Offer ด้านบน ถ้าผมเคาะซื้อชั่วโมงละ 6M ก็ยังสุ่มเสี่ยงอยู่ ผมทำยังไงได้อีก? ใช่แล้ว ผมยังแบ่งออเดอร์ย่อยลงได้อีก

1 ชั่วโมงมีกี่นาทีล่ะ ผมก็จะนำ 6,666,666/60 = 111,111 หุ้น ต่อนาที! จะเห็นว่าภาพความเป็นไปได้เริ่มใกล้เข้ามาแล้วกับการที่ผมจะเขียน Algorithm ที่จะทำหน้าที่เก็บหุ้นให้ผม แต่นั่นยังไม่พอ!

1 นาทีมี 60 วินาที ดังนั้น 111,111/60 = 1,852 หุ้นต่อวินาที!

และ 1 วินาที เท่ากับ 1,000 millisecs!

1,852/1000 = 1.8 หุ้น ต่อ millisec!

ผมก็สามารถนำตัวเลข 1.8 หุ้น ไปส่งคำสั่งซื้อขายในระดับ millisec เพื่อทยอยเก็บหุ้นดังกล่าวได้แล้ว โดยที่ไม่ส่งผลกับราคามากเกินไปและยังได้ต้นทุนตามที่ต้องการซึ่งตัวอย่างที่ผมยกมาจะเห็นว่า ทำไมต้องใช้ HFT? และที่เค้าเอามาใช้กัน เค้าใช้ตอนไหน? และนี่ก็เป็น 1 ตัวอย่าง “ง่าย ๆ” ให้เห็นบทบาทว่า HFT นั้นเข้ามามีบทบาทตรงส่วนไหนกับการซื้อขายหุ้นครับ

แต่หากอยากศึกษาต่อว่ามันมี use case ใดอีกบ้างแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านบทความที่ผมเคยเขียนอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ครับ แล้วลองนำมาประยุกต์กับตัวอย่างที่ผมยกให้ฟังกันดู

VWAP คืออะไร

TWAP คืออะไร

และจากตัวอย่างด้านบนถามว่าการใช้ HFT ด้วยวิธีดังกล่าวได้กำไรยังไง? คำตอบก็คือการได้ราคาต้นทุนที่ “ต่ำ” นั่นเอง โดยเป็นผลงานมาจากการนำ HFT มา “ช่วย” ในการส่งคำสั่งตามที่ผมได้ยกตัวอย่างไป

ถัดมา Advance ขึ้นมาอีกนิด มาต่อกันที่หลายคนสงสัยและอยากรู้กัน การนำไปใช้กับ Market Maker

อธิบายก่อนว่า Market maker คืออะไร? ผมอยากให้ทุกท่านที่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Market maker ตามข่าวบ้านเราออกไปให้หมดก่อน เพราะไม่ว่าจะ Market maker ที่หมายถึงเจ้ามือ คนลากกราฟ คนคุมของ คนทำราคา หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นอาจจะเป็นบริบทตามสื่อที่นักลงทุนบ้านเราเห็นกัน แต่ Market maker ที่ผมจะอธิบายให้ฟังคือ

“ผู้สร้างสภาพคล่องให้กับตลาด” แล้วมันสร้างยังไงล่ะ ลากกราฟหรอ หรือยังไง? ตัวอย่างถัดไปเป็นราคา Forex ครับ

ผมมีหนึ่งคำถามที่อยากถามผู้อ่านดูว่า หากพบ Bid offer จากภาพด้านล่างนี้ ผู้อ่านอยากซื้อขายที่ Exchange ไหนมากกว่ากัน

https://www.dailyforex.com/forex-articles/2009/05/forex-spreads-the-basics/1030

สมมติว่าผมอยากซื้อ EUR/USD ผมควรซื้อจากโบรคเกอร์ฝั่งซ้ายหรือโบรคเกอร์ฝั่งขวาดี?

ผมเชื่อว่าหลายคนเลือกฝั่งซ้าย เพราะหากเคาะขวาเลยที่ ask (offer) ยังไงก็ได้ต้นทุนที่ถูกกว่ากระดานจากโบรคเกอร์ฝั่งขวา หรือหากจะขายใส่ฝั่ง Bid ทันที โบรคเกอร์ฝั่งซ้ายก็ให้ราคาที่ดีกว่า

(ต่อไปนี้ผมแทนที่ Offer ว่า Ask เพื่อให้สอดคล้องกับตัวอย่างนะครับ)

จาก Bid/Ask ด้านบน หากเราตั้งข้อสังเกตว่าทำไมราคาโบรคเกอร์ฝั่งซ้ายราคาใกล้เคียงกันกว่า โดยหลัก ๆ แล้วมีหลายปัจจัย แต่ผมขอเจาะจงไปที่ 2 ปัจจัยหลัก ๆ

  1. โบรคเกอร์ฝั่งซ้ายมีชื่อเสียงกว่า ให้ลองนึกถึง Crypto exchange อย่าง Binance กับ Local exchange ในไทยดูสักเจ้า เราจะเห็นว่า การได้รับความนิยม ชื่อเสียงของโบรคเกอร์ กับจำนวนลูกค้านั้นมีความสัมพันธ์กัน โบรคเกอร์หรือ Exchange ที่ไม่ดัง ก็ย่อมมีลูกค้าเทรดน้อยกว่า เมื่อลูกค้าน้อยกว่า ปริมาณของผู้ที่ตั้งราคารอซื้อหรือรอขายจนเกิดเป็น Bid/Ask นั้นก็น้อยตาม ภาพที่ออกมาก็จะเหมือนกับ Bid/Ask ทางฝั่งขวาที่มีช่องว่างระหว่างราคากว้างกว่ามาก
  2. กรณีนี้อาจจะเป็นโบรคกเกอร์ที่มีชื่อเสียงสูสีกันก็เป็นได้ แต่…โบรคเกอร์ฝั่งซ้ายมีการจ้าง Market maker ให้มาช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ โดยการทำให้มีปริมาณรอรับซื้อที่ฝั่ง Bid เพิ่มมากขึ้นด้วยการวางออเดอร์เพิ่มเข้าไป ในขณะเดียวกันก็วาง ออเดอร์ฝั่ง Ask ให้กับโบรคเกอร์ฝั่งซ้ายด้วย จนทำให้ช่องว่างของราคานั้นถูกเติมเต็มเข้ามาทดแทนด้วยออเดอร์ที่มาจาก Market maker

แล้วทำไมต้องทำแบบนั้น? ทำแล้วได้อะไร?

ตอบง่าย ๆ ทำเพราะได้เงินนั่นแหละครับ ได้ยังไงผมยังไม่ขออธิบายในบทความนี้แต่ผมจะอธิบายว่าพอคุยเรื่องผลประโยชน์ชัดเจนแล้ว Market maker ทำงานยังไงต่อ

วิธีที่ Basic ที่สุด ผมเชื่อว่าหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเคยได้ยินหรือรู้จัก Market maker ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่เค้าทำยังไง? ผมจะเล่าให้ฟัง…

ตัวอย่าง: ผมเป็นบริษัทรับทำ Market maker ผมได้รับการติดต่อจากโบรคเกอร์เจ้าหนึ่งให้ทางบริษัทผมเข้าไปทำราคาให้ โดยภาพของ Bid/Ask เป็นดังนี้

https://www.dailyforex.com/forex-articles/2009/05/forex-spreads-the-basics/1030
  • ผมได้รับโจทย์ให้เพิ่มสภาพคล่องให้คู่เงิน EUR/USD โดยปัจจุบันมีลักษณะของ Bid/Ask ดังภาพ
  • ผมจะทำการหาค่ากลางของ Bid/Ask ก่อนโดย
  • (Ask+Bid)/2 = (1.2468+1.2448)/2
  • = 1.2458

เมื่อผมรู้ค่าจุดกึ่งกลางของ Bid/Ask แล้ว สิ่งที่ผมจะทำต่อคือการทำให้มันแคบลง

  • ขั้นตอนถัดมาให้หาเป้าหมายว่าผมอยากจะวางให้มันแคบลงแค่ไหน
  • สมมติผมอยากให้ราคามันแคบลงเหลือแค่ฝั่งละ 0.01% ผมก็นำค่าที่คิดจากราคา 1.2458 นำไปเพิ่ม 0.01% เพื่อวางเป็นออเดอร์ฝั่ง Ask และนำ 1.2458 ไปหักออก -0.01% เพื่อวางเป็นออเดอร์ฝั่ง Bid
  • New Bid: 1.2458–0.01% = 1.2456
  • New Ask: 1.2458+0.01% = 1.2459
ตารางบอกตำแหน่งราคาเปรียบเทียบระหว่าง Exchange orders vs Market maker orders
เปรียบเทียบระหว่าง Exchange orders vs Market maker orders (Fixed spread)

เมื่อทางบริษัท Market maker ได้ช่วงราคาที่ต้องการมาแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการใส่ออเดอร์เข้าไปใน Exchange เพื่อเติมราคาให้ทัน หากในสภาวะปกติก็คงไม่เป็นไร สามารถคอยเติมเพื่อให้ราคาแคบลงได้ อาจจะใช้ตัวอย่างจากด้านบนที่ผมกำหนดให้ก็ได้ แต่กลับกัน ลองจินตนาการถึงช่วงเวลาที่สินทรัพย์มีความผันผวนสูงจากสภาวะตลาดที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นข่าวตัวเลขเศรษฐกิจ ข่าวสงคราม ข่าวภัยพิบัติ หรือข่าวการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วราคามีความผันผวนสูงมาก มีการเหวี่ยงตัวจากจุดปัจจุบันขึ้นและลงในระยะเวลาอันสั้น กรณีนี้ Market maker จะต้องเตรียมออเดอร์ประเภท HFT เข้ามาบริหารเพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ ลองคิดดูว่าหากไม่มี Order จากฝั่ง Market maker ตั้งรอรับไว้อยู่ และหากมีนักลงทุนรายใหญ่เทสินทรัพย์นั้นทิ้ง โดยที่มีเพียงออเดอร์ขนาดเล็กจากนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ วางไว้อยู่ ก็คงไม่ต่างจากตลาดหุ้นที่มีข่าวร้ายแล้วออเดอร์ใหญ่เทขายทีเดียวก็จม Floor เพราะไม่มีสภาพคล่องเพียงพอรอรับ

ดังนั้น Market maker จึงนำ HFT เข้ามาเพื่อคอยสร้างสภาพคล่องให้เพียงพอกับทุกออเดอร์ที่จะเข้ามาให้ล้อไปตามสภาพตลาดปัจจุบันแบบเสี้ยววินาทีให้ได้เร็วที่สุดนั่นเอง

จากด้านบนจึงเป็นตัวอย่างที่ Market maker นำ HFT มาใช้เพื่อให้ทันสถานการณ์ตลาด ซึ่งจะไม่เหมือนกับที่นักลงทุนบ้านเราเคยได้ยินว่า Market maker คือเจ้ามือ คือคนลากกราฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ สำหรับ Market maker ในต่างประเทศนั้น มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย จัดตั้งเป็นบริษัทชัดเจน มีรายได้ที่ได้จากการเพิ่มสภาพตล่องให้กับลูกค้าที่เป็น Exchange หรือ Broker ถูกต้อง ดังนั้นบริษัทเหล่านี้ จึงไม่คุ้มที่จะเสี่ยงหากต้องไปรับงานเพื่อที่จะลากราคาหุ้นให้ใครและโดนฟ้องร้องในภายหลังได้นั่นเอง

และสุดท้าย

HFT ที่เค้าเล่ากันว่ามันทำกำไรใน Hedge fund ล่ะ? มันทำยังไง?

ผมอาจจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ว่ามันมีกลยุทธ์แบบนั้นอยู่จริง ๆ แต่ไม่ได้สามารถทำได้โดยง่ายในนามบุคคลธรรมดา หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเงื่อนไขที่จะทำกลยุทธ์แบบ Hedge fund ได้นั้น นอกจากต้องมีเงินปริมาณมหาศาลแล้ว คุณต้องเข้าถึงฐานข้อมูลของแต่ละ Exchange หรือ Broker ได้ บนช่องทางที่ไม่ใช่แค่ rest API แบบปกติ คุณต้องสามารถเข้าถึง Dark pool เพื่อสร้างออเดอร์ที่ไม่มีทางเห็นบนกระดานเทรดแบบปกติได้ ซึ่งทางฝั่งผู้ให้บริการจะมีไว้ให้ เรื่องของภาษาโปรแกรมที่แตกต่างจากภาษาโปรแกรมที่เราเคยเรียนกันอย่างเช่นภาษา FPGA, ASIC และคุณต้องเข้าถึง National Best Bid and Offer (NBBO) ได้อีก ซึ่งต้องยอมรับว่ามีเงื่อนไขและด่านของ Infrastructure ที่เป็นกำแพงใหญ่มากกว่าการคิดว่าจะเอากลยุทธ์อะไรไปใช้ โดยจากประสบการณ์ที่เคยทำ ผมขอเล่าให้ฟังง่าย ๆ ดังนี้

  • กลยุทธ์ที่ใช้มาจากการ Predicted บนข้อมูลระดับ millisecond
  • ผลทำนายของโมเดลแม่นยำเกิน 80%
  • เมื่อทำนายได้ ก็สามารถตั้งรับซื้อเยอะ ๆ และขายออกเมื่อทราบผลทำนายว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ในอนาคตระดับ millisecond

จากที่เราเคยได้ยินข่าวกันว่าตลาดหุ้นอเมริกามีออเดอร์จาก HFT เกินกว่าครึ่ง รวมถึงปัจจุบันกับตลาดหุ้นไทยเช่นกัน ดังนั้นจะเห้นว่าการเพิ่มเข้ามาของออเดอร์ประเภทนี้ ไม่ได้ทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ “ออเดอร์เหล่านั้นทำหน้าที่เพิ่มสภาพคล่องที่เพียงพอให้กับนักลงทุนที่จะซื้อหรือขาย”

ดังนั้นหากถามว่า HFT เป็นกลยุทธ์ที่ดีหรือไม่ ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน หากผมเป็น trader ที่พัฒนา Mid-Frequency trading strategy ผมก็คงอาจไม่ชอบใจเพราะ HFT มีทุกอย่างที่พร้อมและเร็วกว่าผม หากผมเป็นเจ้าของ Exchange ผมก็คงชอบที่มี Market maker มาทำ HFT ให้กับผมเยอะ ๆ เพราะนั่นหมายถึงกระดานเทรดของผมจะมีสเปรดที่แคบกว่าเจ้าอื่น และดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการจะซื้อหรือขายเข้ามา

แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว ต้องบอกว่าคงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะผลตอบแทนของคุณคือการ Enjoy กับกิจการที่เติบโตขึ้นจนถึงเป้าหมายนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่านักลงทุนจะเข้าไปทำ HFT ได้ทันที นอกจากสภาพตลาด เงื่อนไขคำสั่งหรือการเชื่อมต่อแล้ว ต้องตรวจสอบด้วยว่าโบรคเกอร์หรือ Exchange นั้น ๆ อนุญาตให้ทำหรือไม่ เพราะหากเค้าไม่ให้ลูกค้าทำ ให้เตรียมตัวโดยแบนบัญชีได้เลย เพราะอย่าลืมว่าทางผู้ให้บริการสามารถติดตามออเดอร์ได้ทุกออเดอร์อยู่แล้ว และการจะคอยดูว่าออเดอร์ไหนเทรดผิดปกตินั้นก็ง่ายนิดเดียว

สำหรับหัวข้อ HFT ก็จบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าจะช่วยไขข้อสงสัยทุกคนได้ไม่มากก็น้อย ต่อไปนี้หากมีใครมาบอกว่ามีกลยุทธ์ HFT มาชวนลงทุน ก็จะได้เข้าใจและสอบถามเพิ่มเติมได้มากขึ้น อาจจะเป็นคำถามง่าย ๆ เช่น “คุณใช้ HFT ทำอะไรและทำตอนไหน?”

สวัสดีครับ

--

--